Home School คืออะไร ?

Home School คืออะไร ?

Home School คืออะไร ?

สวัสดีค่ะน้องๆ หลังจากที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์โรคโควิดแพร่ระบาด ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดสอนตามปกติที่โรงเรียนได้ และได้ปรับรูปแบบการสอนใหม่โดยใช้ช่องทางออนไลน์แทน แม้ในขณะนี้อาจจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นหรือไม่ ก็ทำให้น้องๆ และผู้ปกครองหลายคน เริ่มให้ความสนใจกับการทำ Home School มากยิ่งขึ้น วันนี้ Up Grade Class จะพาไปศึกษาว่า Home School คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ปกครองในช่วงเวลานี้

Home School คือ อะไร

Home School คือ รูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ผู้เรียนสามารถเรียนอยู่ที่บ้านได้  หรือบางครั้งเราก็มักจะใช้คำว่า Home Schooling แปลว่า การศึกษาโดยครอบครัว 

Home School ถือเป็นรูปแบบการเรียนที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เพราะมีความยืดหยุ่นในการเรียนสูง สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่ไม่ประสงค์จะเรียนในโรงเรียนด้วยระบบปกติได้เป็นอย่างดี โดยการเรียนแบบ Home School นั้น จะเน้นที่ความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การค้นพบความสามารถหรือความถนัดที่แท้จริงของตัวเอง

การเรียนแบบ Home School สามารถเรียนได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ดูแลและวางแผนการศึกษาให้กับผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งการเรียนแบบ Home School นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  • การเรียน Home School ที่ไม่ต้องการวุฒิการศึกษา การเรียนในลักษณะนี้จะไม่ยุ่งยากมากนัก ผู้ปกครองสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวได้
  • การเรียน Home School ที่ต้องการวุฒิการศึกษา การเรียนเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษา สามารถเลือกได้จากหลากหลายช่องทาง ดังนี้
  1. การยื่นขออนุญาตจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง ดังนี้
    • ระดับก่อนประถมศึกษา(อนุบาล) และประถมศึกษา ยื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
    • มัธยมศึกษาตอนต้น ยื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดยแต่หากเป็นกรณีที่จัดการศึกษาต่อเนื่องมาจากระดับประถมศึกษา จะสามารถยื่นได้ทั้งสองที่ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาก็ได้
    • มัธยมศึกษาตอนปลาย ยื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา
  2. การเรียน กศน. หรือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 
  3. จัดการเรียนการสอนโดยร่วมกับโรงเรียนที่มีการเปิดรับนักเรียน Home School
  4. เรียนกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
  5. สอบเทียบด้วยวุฒิการศึกษาต่างประเทศ เช่น GED หรือ IGCSE & A Level

การเตรียมตัวเพื่อศึกษาแบบ Home School

  • คุณพ่อและคุณแม่ต้องมีความตั้งใจ ชัดเจนหนักแน่นและเห็นพ้องต้องกันอย่างแท้จริง อีกทั้งยังจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจถึงการศึกษาทางเลือกนี้ให้ดีก่อนเสียก่อนค่ะ
  • ต้องสำรวจความพร้อมของคุณพ่อและคุณแม่ด้วยว่ามีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ครูของลูก ให้เวลากับการเรียนรู้ของลูกอย่างเต็มที่ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมไปกับลูก ใฝ่รู้และตั้งใจที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการสอนตลอดเวลาหรือยัง เพราะคุณพ่อและคุณแม่ถือเป็นกุญแจสำคัญสำรับการศึกษาในระบบนี้
  • คุณพ่อและคุณแม่ต้องเป็นนักจัดการที่ดี ทั้งการวางแผนการเรียนรู้ของลูก การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมของบ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้ การจัดโอกาสให้ลูกได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กด้วยกันเพื่อมีทักษะทางสังคม การค้นคว้าหาแหล่งเรียนรู้ทั้งสถานที่และตัวบุคคล การติดต่อประสานงานกับกลุ่มโฮมสคูล กลุ่มสนับสนุน โรงเรียนที่ลูกจะขึ้นทะเบียนเพื่อการเทียบโอนกับระบบโรงเรียน
  • ต้องรักษาวินัยทั้งกับคุณพ่อคุณแม่และลูก จะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่
  • เข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูก เพื่อจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องตามช่วงวัย เช่น
    • ในวัยแรกเกิดถึงวัยอนุบาลเป็น ช่วงเวลาของการสร้างเสริมพัฒนาการทุกๆ ด้าน เพื่อเป็นรากฐานที่ถูกต้องมั่นคงของชีวิต
    • ในระดับประถมศึกษาเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้พื้นฐาน ทุกวิชาและพัฒนาจริยธรรม
    • ช่วงมัธยมศึกษาก็เป็นช่วงเวลาแห่งการสำรวจ ค้นหาความสนใจ และความถนัด เป็นต้น
  • พร้อมจะให้เวลาคุณภาพกับลูก ในการอบรมบ่มนิสัยลูก สอดแทรกผ่านกิจกรรมการเรียนรู้หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น
    • งานบ้านอย่างการล้างจาน ก็ช่วยฝึกเด็กให้รู้จักหน้าที่ รู้รับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อส่วนรวมคือคนในบ้าน
    • เด็กจำเป็นต้องได้พัฒนาตัวเองในทุกแง่มุมไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ แต่รวมถึงเรื่องของทักษะชีวิต จริยธรรม
    • ต้องฝึกลูกให้มีความมั่นคงทางความคิด ทางอารมณ์ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมปรับตัวเข้าสังคมได้ เป็นต้น

Home School ทำได้ตั้งแต่อายุเท่าไร?

ถึงแม้ว่าการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย จะเริ่มต้นที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรืออายุประมาณ 7 ปี แต่หากคุณพ่อคุณแม่อยากจะเริ่ม Home School ให้ลูก ๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลก็สามารถทำได้เช่นกัน และนอกจากนี้ยังสามารถทำโฮมสคูลได้จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เลยอีกด้วย

การออกแบบแผนการจัดการศึกษา

การออกแบบแผนการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลนั้น จะต้องมีการสร้างหลักสูตรของครอบครัวโดยตกลงและเตรียมการร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก อาจจะมีการผสมผสานกันขององค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ ที่จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กเป็นคนใฝ่เรียนรู้ และเข้าใจกระบวนการ และวิธีการค้นคว้าหาความรู้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จะช่วยให้เด็กสามารถเสริมสร้างความรู้ไปได้ตลอดชีวิต

แผนการศึกษาแบบโฮมสคูลนั้นจะมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้

  • องค์ความรู้ ขอบเขตเนื้อหาทางวิชาการ ไม่แตกต่างจากหลักสูตรในโรงเรียนทั่วไป
  • กระบวนการ วิธีการเรียนรู้ จะยืดยุ่นแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว 
  • มีการสร้างเสริมประสบการณ์จากกิจกรรมนอกห้องเรียน
  • มีการเข้าร่วมกลุ่ม Home School หรือค่ายกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้พัฒนาสกิลเข้าสังคม

โฮมสคูลเรียนอะไรบ้าง?

การเรียนแบบโฮมสคูลมักจะยึดตามความสนใจของเด็กและครอบครัวเป็นหลัก โดยที่กระบวนการเรียนและวิธีการเรียนอาจแตกต่างกับการเรียนในโรงเรียนทั่วไป เช่นการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่องการชั่ง ตวง และวัด ของเด็กโฮมสคูลอาจใช้การเรียนผ่านการทำขนมเค้ก และยังสามารถต่อยอดไปในเรื่องการคำนวณต้นทุน ราคาขาย และการทำบัญชีได้ด้วย

การประเมินผล

การประเมินผลของการทำโฮมสคูลแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบของการจัดการเรียน เช่นหากเป็นการจัดโฮมสคูลแบบครอบครัวเดี่ยว หน้าที่การประเมินก็จะเป็นของพ่อแม่ และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยที่วิธีการประเมินก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละเขต เช่นการดูแฟ้มผลงาน, การทำแบบประเมิน และ การสัมภาษณ์สอบถามเด็ก เป็นต้น โดยที่จะมีการประเมินจากเขตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ข้อดีและข้อเสียของการทำ Home School

ข้อดี

  • สามารถเรียนจบได้เร็วกว่าการเรียนในโรงเรียนปกติ
  • ความสัมพันธ์ในครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้น
  • สามารถเลือกแนวทางการเรียนให้เหมาะกับผู้เรียนได้
  • สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดด้วยการปิดเทอม – เปิดเทอม
  • มีความยืดหยุ่นเรื่องวัน-เวลาเรียนได้ดีกว่า
  • สามารถเลือกเรียนเฉพาะในรายวิชาที่ต้องใช้เรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในวิชาที่ไม่เกี่ยวข้อง

ข้อเสีย

  • หากคนในครอบครัวไม่มีความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนแบบ Home School อย่างจริงจัง ก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จli
  • เสี่ยงต่อการขาดทักษะการเข้าสังคมได้ง่าย ดังนั้น ครอบครัวต้องให้นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกการเข้าสังคมด้วย
  • บางครั้งอาจจะมีความอิสระมากเกินไป จนทำให้รู้สึกไร้ทิศทาง
  • หากพ่อ แม่ ใช้วิธีการสอนลูกด้วยตัวเอง ลูกอาจจะไม่ค่อยรับฟัง
  • พ่อ แม่ อาจจะทำ Home School ด้วยความกดดันจนไม่มีความสุข
  • พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องอัพเดตติดตามข้อมูล รวมไปถึงเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนในหลักสูตรที่ทันต่อยุคสมัย

จะเห็นได้ว่าการเรียน Home School นั้นจะต้องอาศัยความพร้อมและความตั้งใจของคุณพ่อและคุณแม่เป็นอย่างมาก จะต้องใกล้ชิดและคอยสังเกตลูกเป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานครอบครัว Home School ขึ้น ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อสร้างมาตรฐานการจัดการศึกษาโดยครอบครัวในสังคมไทยไห้มีความชัดเจนมากขึ้นต่อไปค่ะ